ข่าวจาก Facebook
ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวสร้างความเข้าใจ กรณีการฉีดวัคซีนโรคหัด โปลิโอ และวัคซีนทุกชนิดแก่เด็กและเยาวชนที่นับถือศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ขัดหลักศาสนาอิสลาม ด้านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสแนะผู้ปกครองควรนำเด็กและเ
18 ตุลาคม 2561
ณ โรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
วันนี้ (17 ต.ค.61) เวลา 11.00 น. นายซาฟีอี เจ๊ะเล๊าะ ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวสร้างความเข้าใจกรณีการฉีดวัคซีนโรคหัด โปลิโอ และวัคซีนทุกชนิดแก่เด็กและเยาวชนที่นับถือศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้นไม่ขัดหลักศาสนาอิสลาม เว้นแต่ในกรณีของตัวบุคคล เช่น ผู้ตั้งครรภ์ที่ไม่สามารถรับวัคซีนได้ ในขณะที่จุฬาราชมนตรีเคยมีคำวินิจฉัยแล้วว่าสามารถฉีดวัคซีนได้ เพราะเป็นการป้องกันและรักษาโรค ดังนั้นขอให้ผู้ปกครองควรพาลูกไปรับการฉีดวัคซีนตามนัด และอนุญาตให้ลูกรับวัคซีน เพื่อเป็นการควบคุมการระบาดของโรคในขณะนี้ และในอนาคต
สำหรับการระบาดของโรคหัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยข้อมูลจากระบบรายงานโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2561 นี้มีอัตราป่วยโรคหัดทั้งประเทศ 4 คนต่อประชากร 100,000 คน (4:100,000) แต่จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงที่สุดคือจังหวัดยะลา อยู่ที่ 51:100,000 และพบมากในกลุ่มอายุน้อยกว่าหนึ่งปีลงไป รองลงมาคือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (21:100,000) และจังหวัดสมุทรสาคร (14:100,000) ตามลำดับ
ในขณะที่โรคหัดรุนแรง คือมีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 3 ลำดับแรก คือจังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดอุบลราชธานี ด้านนายแพทย์วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยถึง สถานการณ์โรคหัดในจังหวัดนราธิวาส จากการรายงานผู้ป่วยโรคหัด ในช่วงวันที่ 1 มกราคม-10 ตุลาคม 2561 พบผู้ป่วยจำนวน 55 ราย (อัตราป่วย 6.95 ต่อแสนประชากร ) และยังไม่พบผู้ป่วยที่เสียชีวิต โดยอำเภอที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุดคือ อำเภอสุคิริน รองลงมาคืออำเภอเมือง และอำเภอรือเสาะตามลำดับ ซึ่งพบมากในเด็กอายุ 0-4 ปี
พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า โรคหัดเป็นโรคไข้ออกผื่น เกิดจากเชื้อไวรัสหัด พบบ่อยในเด็กช่วงอายุ 1-6 ปี นับว่าเป็นโรคที่มีความสำคัญมากโรคหนึ่ง เพราะอาจมีโรคแทรกซ้อนทำให้เด็กเสียชีวิตได้ สำหรับโรคหัดนั้นสามารถป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุจกำหนดให้วัคซีบป้องกันโรคหัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่ออายุ 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 เมืออายุ 2 ปีครึ่ง โดยให้ในรูปของวัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน (mmr) ทั้งนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส และอสมได้เฝ้าระวังและแนะนำประชาชนให้ดูแลสุขภาพของตนเอง พร้อมเชิญชวนผู้ปกครองนำบุตรหลานไปฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ ณ โรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน และหากมีอาการดังกล่าวให้รับพบแพทย์โดยเร็ว
Cr. สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.นราธิวาส