ข่าวจาก Facebook
สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.นราธิวาส จับมือสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานเกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรธรรมชาติ
29 มีนาคม 2562
เพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน
วันนี้ (29 มี.ค.62) นายสมศักดิ์ นามตาปี เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส พร้อมคณะ และทีมงานสำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.นราธิวาส นำสื่อมวลชน ผู้จัดรายการวิทยุและเครือข่ายประชาสัมพันธ์ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานแปลงเกษตรกรต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ และศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติบ้านสุไหงบาลา ตามโครงการประชาสัมพันธ์การกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในส่วนภูมิภาค เพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจให้ประชาชน
สำหรับในช่วงเช้า คณะสื่อมวลชนได้ลงพื้นที่แปลงเกษตรกรต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ หมู่ที่ 3 ตำบลลุโบะบายะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส โดยมีนายอาเรส หะมะ เกษตรกรต้นแบบทฤษฎีใหม่ เป็นวิทยากร ซึ่งมีการบริหารจัดการพื้นที่ 3 ไร่เศษ เพื่อใช้เลี้ยงเป็ด ไก่ วัว ปลูกอ้อย สับปะรด พืชผัก ไม้ยืนต้น และทำนา ซึ่งการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ของนายอาเรส มีจุดเริ่มต้นมาจากการเข้าร่วมโครงการของหน่วยงานด้านการเกษตร โดยได้ปลูกพืชผักหมุนเวียนทำให้มีรายได้ต่อเนื่อง จากเดิมที่มีอาชีพกรีดยางเพียงอย่างเดียวมีรายได้ที่ไม่แน่นอน ในช่วงแรกได้รับความรู้จากหน่วยงานต่างๆ ประกอบกับการเรียนรู้ด้วยตนเองจนทำให้สามารถยึดอาชีพเกษตรเป็นอาชีพหลักได้ ใช้การทำเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี เน้นใช้ปุ๋ยตามธรรมชาติ โดยกินทุกอย่างที่ปลูกและปลูกทุกอย่างที่กิน แบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนต่างๆ ซึ่งสิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จมาจากการทำด้วยใจ โดยมีการศึกษาทำความเข้าใจในการทำการเกษตร เมื่อพบปัญหาก็ปรึกษาเกษตรอำเภอ มีการวางแผนการตลาดเพื่อลดต้นทุน สร้างรายได้เพิ่ม จากนั้นคณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ตำบลลุโบะบายะ ซึ่งรวมกลุ่มปลูกพืชผักหลากหลายชนิด อาทิ แตงโม ข้าวโพด ฟักทอง พริก มะระ ผักบุ้ง เป็นต้น เพื่อสร้างอาชีพเสริมให้แก่สมาชิกในชุมชน
ในช่วงบ่ายได้เดินทางไปยังศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติบ้าน สุไหงบาลา ตำบลมะนังตายอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส โดยมีนายอับดุลรอแม เจะยิ ปราชญ์ชาวบ้านเป็นวิทยากร และกลุ่มเกษตรกรของศูนย์ฯ ร่วมให้ข้อมูลการดำเนินงาน และให้การต้อนรับ พร้อมทั้งนำชมภายในศูนย์เรียนรู้ฯที่มีการดำเนินงานในพื้นที่ 4 ไร่ โดยไม่ใช้สารเคมี เริ่มต้นดำเนินการมากกว่า 10 ปี โดยนายอับดุลรอแม เป็นโต๊ะอิหม่ามที่มีแนวคิดในการทำเกษตร เนื่องจาก มีความรักในครอบครัวและชุมชน จึงศึกษาการทำเกษตรหลากหลายด้าน เช่น การเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผักหลายชนิด เพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและไม่ใช้สารเคมี เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสัตว์ที่อยู่ในดินและทำให้ดินเสื่อมสภาพ โดยใช้การทำเกษตรแบบผสมผสานที่เกื้อกูลกัน มีการทำน้ำหมักเพื่อกำจัดแมลง การทำปุ๋ยหมัก การเลี้ยงปลา โดยนำน้ำจากบ่อเลี้ยงปลามารดต้นไม้เพื่อให้เป็นปุ๋ย ซึ่งพื้นที่โดยรอบมีการปลูกพืชผักแบบเกษตรผสมผสาน การทำเกษตรชีววิถี ซึ่งนายอับดุลรอแม เป็นปราชญ์ชาวบ้านที่ได้รับการยกย่อง โดยมีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่มาร่วมให้ข้อมูลเมื่อมีคณะมาศึกษาดูงาน และสมาชิกในกลุ่มยังสามารถมาขอความรู้จากศูนย์เรียนรู้ฯได้เมื่อมีข้อสงสัยด้านการเกษตร จึงเป็นการสร้างความสามัคคีของคนในชุมชนอีกด้วย
ด้านนายสมศักดิ์ นามตาปี เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า โครงการ 5 ประสานสืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 โครงการดังกล่าวกระทรวงเกษตรมีนโยบายดำเนินการให้ครบ 70,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งจังหวัดนราธิวาสได้ดำเนินโครงการฯมากว่า 3 ปีแล้ว รวมกว่า 2,000 ราย พื้นที่ดำเนินการ 600 กว่าไร่ มีการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ให้เกษตรกรปรับพื้นที่ เนื่องจากในจังหวัดนราธิวาสเกษตรกรมักปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำให้มีพื้นที่ว่างมาก จึงเปิดรับเกษตรกรเข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจ เพราะมีปัจจัยการผลิตไม่เหมือนโครงการอื่น โดยให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูก เพื่อให้มีกิน สามารถแบ่งปันได้ และนำมาจำหน่ายสร้างรายได้ โดยอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร สนับสนุนปัจจัยด้านการผลิต ซึ่งเป็นการเกษตรโดยปรับตามศักยภาพพื้นที่ เช่น การทำเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
Cr. สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.นราธิวาส