ประวัติความเป็นมาของจังหวัด
จังหวัดนราธิวาส เดิมเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมง ซึ่งตั้งอยู่ปากแม่น้ำบางนราติดชายทะเลอ่าวไทย ในสมัย
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช บ้านบางนราถูกจัดให้อยู่ในเขตปกครองของเมืองสายบุรี
ต่อมาถูกย้ายมาอยู่ในปกครองของเมืองระแงะ ซึ่งเป็น เมืองหนึ่งในมณฑลปัตตานี ปี พ.ศ. ๒๓๕๕ เกิดมี
โจรร้ายปล้นสะดมมากมายในมณฑลปัตตานี เหลือกำลังที่พระยาปัตตานีจะจัดการลงได้ จึงขอความช่วยเหลือ
ไปยังพระยาสงขลา ให้ช่วยมาปราบปรามจนสำเร็จ พร้อมทั้งวางนโยบายแบ่งแยกเมืองปัตตานีออกเป็น
๗ หัวเมือง คือ เมืองปัตตานี เมืองหนองจิก เมืองยะลา เมืองรามัน เมืองระแงะ เมืองสายบุรี และเมืองยะหริ่ง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเกิดกบฏใน ๔ หัวเมืองปักษ์ใต้ โดยมีพระยาปัตตานี
พระยาหนองจิก พระยายะลา และพระยาระแงะ สมคบร่วมกัน พระยาสงขลา จึงยกกำลังมาปราบปรามโดยมี
พระยายะหริ่งเป็นกำลังสำคัญช่วยทำการปราบปรามจนสำเร็จ ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาราชการ
เมืองระแงะสืบต่อจากพระยาระแงะที่หลบหนีไป และได้ย้ายที่ว่าราชการจาก บ้านระแงะมาตั้งใหม่
ที่ตำบลตันหยงมัส หรืออำเภอระแงะ ในปัจจุบัน
ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเลิกการปกครองแบบเก่า ขณะเดียวกับ
บ้านบางนราได้เจริญขึ้นเป็นชุมชนใหญ่ จนกลายเป็น เมืองศูนย์กลางทางการค้าขายทั้งทางบก และทางทะเล
และเพื่อให้การดูแลและขยายเมืองเป็นไปด้วยดี ในวันที่ ๒๗ กรกฎาคมปีเดียวกัน จึงมีประกาศ
พระบรมราชโองการให้แยก ๗ หัวเมือง ออกจากมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า มณฑลปัตตานี ในช่วงนี้ได้ย้าย
ที่ว่าการจากเมืองระแงะมาตั้งที่บ้านมะนาลอ
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ ได้เสด็จ
พระราชดำเนินยังบ้านบางนราในวันที่ ๑๐ มิถุนายน และพระราชทานชื่อว่า นราธิวาส อันมีความหมายว่า
ที่อยู่ของคนดี ถัดมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ มีการปรับปรุงระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่โดยการ
เปลี่ยนชื่อเมืองมาเป็นจังหวัด เมืองนราธิวาส จึงเปลี่ยนมาเป็น จังหวัดนราธิวาส นับแต่นั้นเป็นต้นมา